top of page
ค้นหา

สรุปไฮไลท์สำคัญในงาน SETA 2024 - Sustainable Asia Week

  • Admin
  • 24 ส.ค. 2567
  • ยาว 3 นาที

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในวันที่ 15 -17 สิงหาคม 2567 มีมหกรรมเพื่อความยั่งยืนของโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียกับงาน SustainAsia Week 2024 ณ  ฮอลล์ 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 


ภายในงานนอกจากจะมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องของพลังงานสะอาดแล้ว ยังมีหลายเวทีที่เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศมาเสวนาด้านความยั่งยืน รวมถึงเวที “ Leave Your Carbon Behind, Not People ” เวทีเสวนาที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟังแนวทางและประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 8 ท่าน และร่วมสำรวจความยั่งยืนในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการวางนโยบายของภาครัฐ การดำเนินงานของภาคเอกชน หรือการลงมือทำของคนในสังคม วันนี้เรารวบรวมไฮไลท์สำคัญของแต่ละช่วงมาให้ได้อ่านกัน



นโยบายและการดำเนินการด้านโครงการสร้างพื้นฐานสีเขียวในกรุงเทพมหานคร

เปิดด้วยการกล่าวต้อนรับและบรรยายพิเศษจาก นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืน ที่ได้เผยถึงแผนการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองสีเขียวและยั่งยืน ด้วยวิสัยทัศน์ที่เน้นการลดการปล่อยก๊าซมลพิษ โดยปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานครมี 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ พลังงาน การขนส่ง ขยะ และน้ำเสีย

.

จากข้อมูลที่ได้รับ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกรุงเทพฯ มากถึง 60% มาจากการใช้พลังงาน รองลงมา 30% มาจากการขนส่ง นอกนั้นเป็นผลมาจากขยะและน้ำเสีย เพื่อลดผลกระทบเหล่านี้ ทางกรุงเทพมหานครได้วางแผนการดำเนินงานใน 4 ด้าน โดยเน้นหนักไปที่พลังงานและการขนส่ง โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้เปรียบการบริหารจัดการเมืองเหมือนกับการดูแลร่างกายของมนุษย์ ที่ต้องมีทั้งเส้นเลือดหลักและเส้นเลือดฝอยทำงานร่วมกัน โดยในด้านการขนส่ง เส้นเลือดหลักของกรุงเทพฯ คือระบบรถไฟฟ้า ซึ่งภายในปี 2028 คาดว่าจะมีรถไฟฟ้าทั้งหมด 11 สาย ครอบคลุมกว่า 300 สถานี นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ดูแลโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

.

ส่วนกรุงเทพมหานครเองมีหน้าที่ในการปรับปรุง "เส้นเลือดฝอย" ซึ่งประกอบด้วยฟุตบาท ทางเดินเท้า และเลนจักรยาน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้จะมีการออกแบบทางเดินที่สามารถหลบแดดและฝนได้ ทำให้การเดินทางในเมืองมีความสะดวกสบายมากขึ้น นอกเหนือจากการขนส่งแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีนโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง อย่าง “การสร้างสวนสาธารณะ 15 นาที” ในชุมชนต่าง ๆ และการสนับสนุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในสำนักงานเขตและโรงเรียน รวมถึงการจัดการขยะด้วยเตาเผาขยะที่ทันสมัย ซึ่งสามารถเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาดได้ถึง 70 เมกกะวัตต์

.

ในอีก 2 ปี ข้างหน้า จะมีการเปิดเตาเผาขยะขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับขยะได้ถึง 2,500 ตันต่อวัน รวมถึงมีแผนจะสร้างเตาเผาขยะเพิ่มอีก 1,000 ตันต่อวัน เพื่อทำให้กรุงเทพฯ สามารถลดการฝังกลบขยะจากกว่า 50% ในปัจจุบันเหลือเพียง 20% ภายในปี 2569 การพัฒนาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกรุงเทพมหานครในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไปอีกด้วย




ก้าวข้ามทุกขีดจำกัดในเรื่องความยั่งยืน

ต่อด้วยช่วงที่สองกับนางสาววิลาวัณย์ ปานยัง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเอ็มยู จำกัด ที่เสวนาในเรื่องของในปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นธรรมชาติมาเคาะประตูเตือนถึงผลกระทบที่โลกกำลังเผชิญ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ที่ดูไบ เมืองที่เคยแห้งแล้ง แต่ตอนนี้กลับต้องเผชิญกับฝนที่ตกบ่อยขึ้น และปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นบ่อยนัก นอกจากนี้ หญ้าทะเล ซึ่งเป็นพืชที่สำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ก็กำลังเผชิญกับการตายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และปะการังที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเล ก็กำลังฟอกขาวเนื่องจากน้ำทะเลร้อนขึ้น เมื่อปะการังพัง สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ก็ไม่มีที่อยู่ ทำให้พวกมันต้องเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

.

ลองนึกภาพโลกเหมือนกับร่างกายของมนุษย์ เมื่อเราต้องการลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารของเรา เปรียบเทียบได้กับการที่หลายประเทศเริ่มตระหนักและออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวทางที่สำคัญมีสองด้านหลัก ๆ ได้แก่ Carbon Neutrality หรือการลดคาร์บอนให้อยู่ในระดับที่เราปล่อยออกไป เช่น ถ้าเราบริโภค 1,000 แคลอรี่ เราก็ต้องเผาผลาญออกไปให้ครบทั้งหมด ในขณะที่ Net Zero หมายถึงการลดคาร์บอนให้มากที่สุด และชดเชยในสิ่งที่ยังลดไม่ได้ เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนส่วนเกินที่เราปล่อยออกไป

.

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในตอนนี้คือ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ง่าย คนที่มีทรัพยากรมากสามารถเปลี่ยนไปใช้รถ EV หรือทำงานจากบ้านได้ง่าย แต่ภาคเกษตรที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ สิ่งนี้จึงเป็นความท้าทายที่เราต้องพิจารณาและหาทางแก้ไขอย่างรอบคอบ เพื่อให้ทุกคนสามารถก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมกัน

.

นอกจากนี้นางสาววิลาวัณย์ ยังเชื่ออีกว่า  สองสิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนได้ คือ Collaboration และ Innovation การจับมือร่วมกันกับคนในสังคมทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคน 99% หรือ 1% ถ้าร่วมมือกันสิ่งที่ยั่งยืนจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน และเรื่องของเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องราวไกลตัวที่มีแค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงได้ แต่จากการไปเยี่ยมชมชุมชนมาหลาย ๆ แห่งทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากมันสมอง สองมือ และเป็นในเรื่องของการคิดและลงมือทำมากกว่า 




ทิศทางในอนาคตของการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและการบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกล่าวเสวนาต่อในช่วงหลังพักเที่ยง ด้วยหัวข้อทิศทางในอนาคตของการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ได้มีการพูดถึงเรื่องภัยธรรมชาติในปัจจุบันที่ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป แต่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวเราอย่างชัดเจน ฤดูร้อนที่ร้อนจัดเกินคาด ฝนที่ตกไม่หยุดหย่อน และปรากฏการณ์เขื่อนแตกที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน 

.

อ่างเก็บน้ำและเขื่อนเหล่าที่มีถูกออกแบบมาเมื่อโลกยังไม่ร้อนอย่างทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันประเทศไทยเหมือนมี "ลูกระเบิดเวลา" อยู่กว่า 3,000 ลูก เนื่องจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเพราะโลกร้อนและน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า ภัยธรรมชาติ คือ ปัญหาที่ต้องรับมืออย่างเร่งด่วน

.

นอกจากการเตือนภัยธรรมชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา ยังกล่าวถึงแนวทางการปรับตัวในยุคนี้ด้วยการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thammasat Smart City ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ริเริ่ม โดยการนำเทคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในมหาวิทยาลัย ความร่วมมือกับเอกชนในการนำระบบ Car Sharing ผ่านแอปพลิเคชันและการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งที่ศูนย์รังสิตและท่าพระจันทร์ จะช่วยลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้พลังงาน และลดมลพิษในพื้นที่มหาวิทยาลัย

.

การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการเช่าหรือการซื้อ ก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และมีส่วนช่วยชะลอภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญในการปกป้องโลกของเรา




ถอดบทเรียน : การนำนโยบายไปปฎิบัติให้กับธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 

ดร.อลิษา กุญชรยาคง กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ได้พูดถึงอีกหนึ่งเทคโนโลยี พลังงานสะอาด คือโซล่าฟาร์มเชิงพาณิชย์ ว่า ย้อนกลับไปปี 2007 รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของ การลดโลกร้อน และประกาศนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากภาคเอกชน พอนโยบายภาครัฐออกมา ในฐานะเอกชน ก็ต้องเอานโยบายภาครัฐเข้าสู่โมเดลธุรกิจว่าคุ้มทุนหรือไม่ 

.

ในฐานะผู้ประกอบการ สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดการต้นทุนและเพิ่มรายได้ เพื่อให้ธุรกิจมีกำไร เราต้องมองหาวิธีที่จะลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในเรื่องค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนหลักสำหรับโรงงานที่ต้องผลิตตลอดเวลา หลายโรงงานเริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟ ใช้พลังงานสะอาด ซึ่งกลายเป็นแนวทางปกติไปแล้ว บริษัทจะได้กำไรหรือไม่อยู่ที่ว่าเรารัดเข็มขัดแน่นขนาดไหน

.

ทุกวันนี้ ทั้งโลกกำลังพูดถึงเรื่อง ESG (Environmental, Social, and Governance) ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการทำธุรกิจ ธุรกิจที่ดีต้องมีความยั่งยืน ยิ่งเป็นธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ก็ยิ่งต้องใส่ใจในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น เอสพีซีจี ที่นอกจากจะผลิตพลังงานสะอาดแล้ว ยังนำส่งกำไรส่วนหนึ่งเข้าสู่กองทุนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อคืนสู่ชุมชนในการพัฒนาและสร้างความโปร่งใส

.

เราเชื่อมั่นว่า "คลีนเอเนอจี้" หรือพลังงานสะอาด ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างโอกาสการจ้างงานตามมาตรฐานที่ เอสพีซีจี ได้วางไว้ภายใต้คติ Best Value, Best Design, Best Output, & Best Service สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงภาคเอกชนและภาครัฐ นโยบายที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่องมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การมีนโยบายที่มั่นคงและโปร่งใส จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน




ถอดบทเรียนการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน : แนวทางปฎิบัติและความสำเร็จของการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากภาครัฐและเอกชน ยังมีในส่วนของภาคธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวข้อเสวนาโดย นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ และเจ้าของร้านอาหารเป็นลาว มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในด้านนี้ โดยได้พูดถึงประเทศไทยและการท่องเที่ยวว่า ประเทศไทยมีสมบัติอันล้ำค่าทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เส้นทางการท่องเที่ยวของเรามักเน้นการขายภาพลักษณ์เก่าแก่ที่ชาวต่างชาติรู้จักมานานกว่า 60 ปี ถึงเวลาแล้วที่เราควรนำเสนอมุมมองใหม่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกับเมืองรองหรือ "Second tier cities" ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างจุดเด่นใหม่ ๆ ผ่านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

.

ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่ป่ากว่า 2.6 ล้านไร่ ซึ่งเชื่อมโยงกับป่าอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน แม้เราจะไม่สามารถสร้างป่าใหญ่ขนาดนี้ขึ้นมาใหม่ได้ แต่เราสามารถรักษาและสนับสนุนการดูแลพื้นที่ป่าเหล่านี้ได้

.

เขาใหญ่อาจถูกจดจำในฐานะสถานที่จัดงานคอนเสิร์ต แต่เราหวังที่จะเห็นงานคอนเสิร์ตที่มีจิตสำนึก มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการจัดงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เราอยากเห็นงานที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้กฎโลกมาบังคับ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

.

ในพื้นที่นครราชสีมา ที่อุดมไปด้วยมรดกโลก 3 แห่ง ได้แแก่ ชีวมณฑล อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นอุทยานแห่งแรกและใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย และอุทยานธรณีโลกหรือโคราชจีโอพาร์ก สถานที่ที่ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ การท่องเที่ยวในภาคอีสานอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่กลับมีของดีที่รอการค้นพบและนำเสนอ และมีอีกหนึ่งในโครงการที่มีความหมายคือ "พาน้องท่องป่า" ที่มุ่งสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ปากช่องได้สัมผัสและเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาธรรมชาติ โดยการท่องเที่ยวแบบมีจิตสำนึกและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

.

สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงงานกิจกรรมที่สำคัญในวันที่ 22 กันยายน 2567 "Car Free Day" ที่ทางสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่จะจัดขึ้น ซึ่งจะมีการปิดพื้นที่เขาใหญ่เพื่อการเดิน และมีการนอนดูดาวในคืนวันที่ 21 กันยายน การอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดและการดูดาวด้วยตาเปล่าจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ และทำให้เราเห็นความงดงามของธรรมชาติที่เราควรหวงแหนและรักษาไว้




ถอดบทเรียนการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน: การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบใหญ่ต่อการลดการปล่อยคาร์บอน


ปิดท้ายด้วยเสวนาจาก 3 ท่านที่มาแบ่งปันเรื่องราวจากคนที่เริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันเล็ก ๆ สู่การสร้างสิ่งที่ยั่งยืนต่อสังคม โดยมี นายชัยยุทธ โล่ธุวาชัย กรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย นายชณัฐ วุฒิวิกัยการ อินฟลูเอนเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพจ Konggreengreen และนายอนุสรณ์ สายนภา ประธานวิสาหกิจชุมชนเปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์รักษ์ทะเล เสน่ห์บ้านบ้านอำเภอ ร่วมเสวนาในรูปแบบถาม - ตอบในบรรยากาศสบาย ๆ 


เปิดด้วยคำถามที่ว่า จุดเริ่มต้นอะไรที่จุดประกายให้ทั้งสามท่านลงมือทำและป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ?


การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากแรงบันดาลใจที่ถูกจุดประกายขึ้นในแต่ละคน แม้เส้นทางจะต่างกัน แต่สิ่งที่เชื่อมโยงกันคือความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม

สำหรับนายอนุสรณ์  “ แรงบันดาลใจมาจากพ่อและเริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ โดยการรวมกลุ่มเพื่อนๆ สร้างถังขยะเพื่อให้ชาวบ้านนำขยะมาทิ้ง แทนที่จะเข็นลงทะเลเหมือนที่เคยทำ แต่การต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมในช่วงแรกของผมเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโรงงานใหญ่ๆ ที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ แต่ผมไม่เคยยอมแพ้ แม้จะต้องเสียเงินตรวจกำจัดน้ำเสียเอง หรือดำเนินโครงการต่าง ๆ ด้วยตัวเองก็ตาม สิ่งที่ทำมาตลอด 30 ปี ไม่ได้เริ่มต้นจากจุดไหนชัดเจน แต่เป็นความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเสมอมา ”


ในส่วนของนายชัยยุทธ “ เริ่มต้นจากความไม่พอใจในชีวิตการทำงานในเมืองใหญ่ การเดินทางที่แสนลำบากและใช้เวลานาน ทำให้ผมไม่มีความสุข แต่เมื่อได้ลองปั่นจักรยานไปทำงานตามคำท้าของรุ่นน้อง ความสุขที่ได้รับจากการปั่นจักรยานค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงชีวิตผม จากการเริ่มต้นทำเพจชวนคนอื่นมาปั่นจักรยาน สู่การทำงานกับมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ผมพบว่าการปั่นจักรยานทุกวันทำให้ชีวิตผมมีความสุขมากขึ้น และสุดท้ายตัดสินใจออกจากงานในองค์กรใหญ่เพื่อทำงานที่ให้ผมได้ทำสิ่งที่รักและเข้ามาร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วนงานรวมถึงกับกรุงเทพมหานครในการพัฒนาเรื่องการใช้จักรยานของคนเมืองด้วย ”


และนายชนัฐ “ เริ่มต้นจากการเล่าเรื่องการแยกขยะในช่วงโควิด ซึ่งเป็นการต่อยอดจากประสบการณ์ในวงการสื่อและการเล่าเรื่องที่ผมชอบมาก่อน การพูดคุยกับคนที่มีแนวคิดในสายกรีน ๆ ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมคนอื่นถึงทำได้แต่เราไม่ได้ทำ การเล่าเรื่องที่ช่วยเปลี่ยนแปลงคนอื่นทำให้ผมหันกลับมาทบทวนตัวเองและตัดสินใจที่จะเป็นคนเล่าเรื่องที่ไม่เพียงแต่พูด แต่ลงมือทำจริงๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ” 


ทั้งสามท่านมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความมุ่งมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ การส่งเสริมการใช้จักรยาน หรือการเล่าเรื่องเพื่อกระตุ้นให้คนดูแลโลก ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงพลังของคนธรรมดาที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีความตั้งใจและความเชื่อในสิ่งที่ทำได้เป็นอย่างดี 


ต่อด้วยคำถามที่ว่า เราสามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่เราทำ ที่คนอื่นอาจจะมองว่าไม่มั่นคงได้อย่างไร เพราะถ้าให้พูดกันตามจริงถ้าเราทำเรื่องสังคมโดยไม่เอาธุรกิจเข้ามา มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะขยายฐานไปสู่สิ่งที่กว้างขวางขึ้นได้


นายอนุสรณ์ “ องค์กรขยะทำไมถึงเลี้ยงชุมชนได้ ? ผมทำให้คนในชุมชนเห็นว่าทำไมเราต้องทำเรื่องขยะ ก่อนหน้านั้นผมก็ทำคนเดียว ทำให้เขาเห็น แต่วันนี้ผมทำให้เขาเห็น จนเขาเข้าใจและเข้ามาร่วมลงมือทำกับผม ผมเริ่มอยากทำให้ดีกว่านี้ ไม่อยากแค่เก็บขยะจากที่หนึ่งและเอาไปอีกที่หนึ่งมันเหมือนย้ายขยะไปมา เลยตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น มีสมาชิกประมาณ 50 คน โรงงานผมก็เริ่มใช้โซลาเซลล์ ขยะทั้งหมดเราพยายามจัดการทั้งหมด เอามาทำสินค้า แปรเป็นของที่มีมูลค่า สมาชิกที่นำฝาขวดพลาสติกมาให้ผมครบ 150 กิโล เราก็จะทำประกันอุบัติเหตุให้พวกเขาด้วยเพราะพวกเขาต้องทำงานกับเครื่องจักร ผมก็ให้ความสำคัญกับส่วนนี้ด้วย ”

ในส่วนของนายชัยยุทธ “ มีหลายคนถามว่าผมบ้าที่ออกจากงานมั่นคง แสดงว่าคุณไม่เคยเห็นคนทำสิ่งนี้แล้วรอด สำหรับพวกเขาเป็นเรื่องใหม่ และทำให้ผมเห็นว่าจักรยานเป็นเรื่องใหม่ คนทำถนน ทำทางจักรยานไม่เป็น เพราะคิดคนละแบบ การสร้างถนนให้รถวิ่งกับจักรยานวิ่งมันต่างกัน แต่การที่เรามาทำงานร่วมกับเขา เราได้ความรู้มาจากที่อื่น ๆ เราสะสมความรู้แล้วเอาไปทำต่อ ประกอบกับทักษะความสามารถการเจอผู้คน ทำให้ความรู้จากเรามันสามารถส่งต่อคนอื่นได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผมทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อพัฒนามัน ผมเอาจักรยานไปสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนด้วย อยากฝากว่าถ้าคุณมีความสุข  ถ้าคุณมีแพชชั่นกับเรื่องอะไร และมันเป็นเรื่องที่ดีมันจะพาให้เราเดินไปในเส้นทางที่มีความสุขก่อน แล้วมันจะตามมาด้วยการทำสัมมาชีพ รายได้จะตามมาเอง ตามหลักอิคิไก เลี้ยงชีพได้ มีความสุข อะไรที่ทำให้เมืองมันดีขึ้นทำเถอะ สิ่งดี ๆ จะตามมา  ทุกคนมองว่าผมออกมาจากงานที่มั่นคง แต่สิ่งที่ผมทำอยู่ ณ ตอนนี้มั่นคงกว่าเพราะมันไม่ใช่แค่ตัวผมแต่มันทำให้ทั้งเมืองอยู่ได้อย่างยั่งยืน ”


และนายชนัฐได้กล่าวในส่วนของตัวเองว่า “ ตอนแรกพอเจอโควิดเราอยากแบ่งปันความรู้ จนเราไปเจอติ๊กต็อก เลยเริ่มจากตรงนี้ และช่วงนั้นคนเริ่มสนใจแยกขยะกันเยอะขึ้น ช่องก็เริ่มโตขึ้น เราเริ่มคิดใหญ่มากขึ้น เริ่มมีทีมงาน ก็ต้องหล่อเลี้ยงคนอื่นได้ด้วย แต่ข้อจำกัดในการรับงานสำหรับคนสายนี้ค่อนข้างเยอะ แต่เราคิดว่าพอเราเล่าเรื่องดี ๆ สิ่งที่กลับมาก็จะเจอเรื่องดี ๆ คอมเมนต์ดี ๆ รวมถึงโอกาสด้วยเลยเลือกที่จะเล่าแต่เรื่องดี ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อไป พอคนชอบคนเริ่มมาสนับสนุนเราเพื่อให้เราทำสิ่งดี ๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้น เราชอบมากเลยเวลาไปเจอคนอื่นได้เติมความรู้ตัวเอง มันได้เล่าและมันได้รู้ไปด้วย มันบวกไปหมดทั้งเรา ผลงาน คนดู สิ่งที่ชอบกับสิ่งที่ทำมันไปด้วยกันได้แบบพอดี ”


และปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า  ทั้งสามท่านมีอะไรอยากจะบอก หรือก้าวต่อไปที่อยากลงมือทำด้านความยั่งยืนไหม ?

เริ่มต้นจากนายอนุสรณ์ “ ผมมีความสุขที่คนรอบตัวเริ่มลงมือทำ หรือเวลาผมจัดงานแล้วสามารถลดใช้พลาสติกได้ คนรอบตัวผมเริ่มซึมซับสิ่งที่ผมทำ ลูกชายผมตั้งแต่เด็กเขาไปตลาดทุกคนจะรู้ว่าเขาจะพกจานไปใส่ด้วย ไม่รับถุงหรือบรรจุภัณฑ์จากร้าน ผมคิดว่าเขาซึมซับและทำตามผมขนาดนี้ ผมต้องทำต่อ ผมไม่ใช่คนเสียสละ แต่ถ้ามันคุ้มค่ากับสิ่งแวดล้อม คุ้มค่ากับผม คุ้มค่ากับลูกผม ผมก็อยากทำต่อ ผมบอกกับสมาชิกวิสาหกิจของผมว่า เราตั้งวิสาหกิจเป้าหมาย คือการปิด วันที่เราประสบความสำเร็จคือวันที่ เราสามารถให้คนแยกขยะได้แล้ว ถ้าขยะไม่มีผมก็ไม่จำเป็นต้องตั้งวิสาหกิจนี้ต่อไปแล้ว ” 


นายชัยยุทธกล่าวเสริม “ โครงสร้างปัจจุบันทำให้คนเราตัดขาดกันมากขึ้น ปกติถนนมีแค่ไม่กี่เลนสามารถข้ามฝั่งไปได้ สมัยก่อยแม่ผมข้ามฝั่งไปตลาดได้ แต่พอสร้างถนนหลายเลนเพราะคาดหวังว่ารถจะติด

น้ยอลง แต่มันก็ไม่ช่วย พอเลนกว้างขึ้นก็มีสะพานลอยแต่คนสูงอายุก็ข้ามไม่ไหว สิ่งที่ทำคือก็ต้องใช้รถในการไปฝั่งตรงข้ามแทน เราคิดว่าต้องมีถนนที่กว้างเพื่อให้รถวิ่งได้สะดวกแต่รถก็ติดเหมือนเดิมเพราะปริมาณรถเยอะขึ้นกว่าเดิม แต่ตอนนี้กรุงเทพฯ กำลังปรับเปลี่ยน ปีนี้มีทำแผนที่จะพัฒนาให้การเดินทางมีความสะดวกขึ้นและสามารถขี่จักรยานได้สบาย และขอฝากการงดใช้รถในวัน Car Free Day ที่จะถึงนี้ให้หันมาใช้รถเมล์ ปั่นจักรยานแทน ”

ปิดท้ายด้วยนายชนัฐ “ ผมย้ายออฟฟิศมาใกล้บ้าน เพราะผมไม่อยากเดินทางนาน และผมได้แรงบันดาลใจจากสองท่านมาก ผมจะเริ่มลองปั่นจักรยานไปทำงานดู ในส่วนของผม ผมไม่เคยบอกว่าเราเป็นนักสิ่งแวดล้อมเพราะมันยังห่างไกลมาก แต่เราเป็นนักเล่าเรื่อง เราเล่าเรื่องไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ชุมชน สำนักงาน เราทำมาหมดแล้ว หลังจากนี้เราจะเริ่มเล่าในเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น ดีใจที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องธุรกิจได้ สิ่งแวดล้อม มันต้องเลี้ยงคนอื่นได้ด้วย เลี้ยงคนที่ทำเรื่องพวกนี้ได้ด้วย มีการสนับสนุนเงินทุน

Konggreengreen ก็จะเป็นสื่อที่เล่าเรื่องดี ๆ ต่อไป เพื่อให้คนเปลี่ยนความคิด ใส่ใจชีวิตประจำวันมากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจ ผมเชื่อว่าความรู้จะสามารถเปลี่ยนแปลงคนได้ ”






 
 
 

Comments


bottom of page